Jcampa

ยินดีต้อนรับทุกท่าน เข้าเยี่ยมชม และออกความเห็น แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน

You are cordially invited to join sharing your experience here.

เชิญร่วมแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันตรงนี้


ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

การเรียนภาษาอังกฤษในไทย

WRP: การเรียนภาษาอังกฤษในไทย

การเรียนภาษาอังกฤษในไทย

การเรียนภาษาอังกฤษของไทย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2550 รายการ ชีพจรโลก ซึ่งดำเนินรายการโดย คุณสุทธิชัย หยุ่น พร้อมพิธีกรรับเชิญ ซึ่งได้แก่คุณ Chris Delivery (ผู้จัดรายการภาษาอังกฤษคืนวันศุกร์ช่อง 5 ) ครูเคต (ปรียา มุสิกพงษ์ เจ้าของโรงเรียนสอนภาษา) และคุณ Golf จำชื่อไม่ได้ ผู้ชายที่เป็นผู้จัดรายการฟุตฟิตฟอร์ไฟว์ (ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย) ทางคุณสุทธิชัยถามว่า ทำไมคนไทยจึงไม่เก่งภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในแถบเอเซียเราแพ้เขาทั้งนั้น พร้อมกับยกหนังสือขี้นมาสองเล่ม และถามว่าหนังสือพวกนี้พิมพ์ออกมาแต่ละปีมากมายหลายเล่มจะช่วยไม่ได้เชียวรึ


พิธีกรรับเชิญต่างเห็นพร้องต้องกันว่า ประเทศไทยเรียนเพื่อสอบให้ได้คะแนนจากอาจารย์ผู้สอนเท่านั้น ไม่ได้เรียนไปเพื่อใช้งาน ครูเคตเสริมว่า ลูกศิษย์ของเธอสอบภาษาอังกฤษจากสถาบันการศึกษาที่พวกเขาเรียนมาได้ 4 หรือ A แต่ปรากฎว่าภาษาอังกฤษของเขาแทบใช้ไม่ได้เลย พูดก็ไม่ได้ อ่านก็ไม่ได้ แปลก็ไม่เป็น (ตรงนี้คงไม่ต้องถามว่าได้มาอย่างไร คนที่เป็นนักเรียน นักศึกษามาก่อนคงพอจะเดาได้ว่าพวกเขาทำคะแนนได้อย่างไร พฤติกรรมบางอย่างถูกใจอาจารย์ผู้สอนก็ได้คะแนนพิศวาทไปแล้ว เขียนไมโครฟิล์มเข้าไปลอก โยนหัวโยนก้อย ใช้ตากราดมองเพื่อนๆรอบข้าง ครูเก็งข้อสอบให้ ตรงไหนครูตอกย้ำก็จำเอาไว้ หรือไม่ก็ไปเรียนติววิชาเพื่อไปเก็บเอาเฉพาะคำตอบ ว่าถ้าถามอย่างนี้ ต้องตอบอย่างนี้ หรือครูคุมสอบไม่เข้มงวดปล่อยให้ผู้เข้าสอบเป็นอิสระเอาหนังสือเข้าไปลอก ปล่อยให้ถามกันได้ อะไรทำนองนี้ ตรงนี้ครูเคตไม่ได้พูด แต่ผู้เขียนเสริมให้ เพราะเคยเห็นมามากต่อมาก พอตอบถูกตรงกับใจครูก็ได้คะแนนมากๆ)

คนที่ได้คะแนนมากๆ (ตรงนี้พูดถึงผู้คนส่วนมาก ส่วนคนที่เรียนจริง รู้จริงก็มีแต่เป็นส่วนน้อย) ก็เลยถือว่าเป็นคนเก่งของห้องไป การศึกษาของไทยมันก็ผูกติดอยู่กับตัว A หรือ 4 แค่นี้แหละถึงอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แปลไม่เป็น รวมไปถึงคิดเลขไม่เป็น ตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ว่านักเรียนจบ ป4 อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ บวก ลบ คูณ หารไม่เป็น ทั้งที่เป็นเด็กใน กทม। ด้วยซ้ำ แต่จบออกมาได้ เพราะเขาเรียนเพื่อเอาแค่คะแนน ไม่ได้เรียนเอาความรู้เพื่อใช้งาน พวกเราให้ความสำคัญกับคะแนน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อใช้งาน ใช้ประโยชน์

จำได้ว่ามีอยู่ปีหนึ่งในรายการ ถึงลูกถึงคน ของ คุณสรยุทธ์ เชิญผู้ที่สอบเอนทรานซ์ที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งแต่ละสายมาสัมภาษณ์ แต่ละคนเล่าว่าพวกเขาเรียนกวดวิชามาตั้งแต่ ม5 พวกเขาเรียนสายวิทย์ ผู้ที่สอบได้คะแนนอันดับหนึ่งดังกล่าว ถูกป้อนคำถามว่าจะเรียนต่อคณะอะไร คนหนึ่งตอบว่าจะเรียนต่อ คณะรัฐศาสตร์ อีกคนหนึ่งจะต่อ นิติศาสตร์ คนที่ได้คะแนนระดับสูงสุดของประเทศทั้งที่เรียนสายวิทย์มา ประหลาดที่ว่ามาเลือกเรียนคณะที่ไม่ได้ใช้ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เคมี ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ แต่ไปเลือกเรียน วิชาที่เป็น Qualitative หรือในเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นเชิงบรรยาย เป็นการเรียนแบบ แบบท่อง ไม่ได้ใช้วิชาการที่เป็นเชิงวิทยาศาสตร์อย่าง คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ หรือที่ไม่มีการบังคับต้องเรียนภาษาอังกฤษ ด้วย

ที่ตั้งข้อสังเกตตรงนี้ก็เพราะว่าคนที่เรียนสายวิทย์ส่วนมาก คือผู้ที่มุ่งหวังที่จะเรียนโดยตรงทาง หมอ วิศวกรรมศาสตร์ หรือวิชาที่ยากๆที่ผู้คนทั่วไปที่ความรู้ไม่ดีพอ คะแนนไม่ถึงเข้าเรียนไม่ได้ ตรงนี้ก็น่าคิดว่า มันเกิดอะไรขึ้นจึงกลายเป็นการผิดคาดไปได้อย่างนี้ หรือว่าเกิดผิดพลาดการให้คะแนน หรือเกิดฟลุคอะไรจึงเป็นอย่างนี้

แค่นี้ก็พอสรุปได้แล้วว่า การประเมินผลการศึกษาาของไทยไม่เป็นไปตามความเป็นจริง หรือพูดง่ายๆว่าผิดไปมากแล้ว มัวแต่มาเห่อหอมอยู่กับการได้คะแนนดีๆ แต่ไม่มีความรู้เลย ตลกสิ้นดี ความรู้จอมปลอมหลอกลวงคนไทยมาทั้งชาติกี่ปีแล้วก็ไม่รู้ วัดกันอยู่ตรงที่คะแนน ปริญญาโท ปริญญาเอก โดยที่ไม่ได้ดูที่ความรู้ ความสามารถ ประสิทธิภาพในการประยุกต์ใช้งาน หรือเรียนมาแล้วมีความรู้จริงและสามารถเอามาใช้งานได้จริง

เชื่อไหมว่าในระหว่างที่มีการอภิปรายในประเด็นดังกล่าว จะมีคนส่งข้อความขึ้นหน้าจอ (Message) มาตลอด ว่า เรียนมาเป็นสิบๆปีก็แค่นี้ไม่มีอะไรดีเลย จบปริญญาตรีก็พูดไม่ได้ จบปริญญาโทก็พูดไม่เป็นเลย ผู้เขียนเองเคยเจอนักเรียน นักศึกษาที่มาว่าจ้างแปลงานให้ รวมทั้งแปลทรานสคริปต์ เห็นเขาได้คะแนนภาษาอังกฤษ 4 หรือ A เลยถามเขาว่าทำไมไม่แปลเอง บางคนตอบว่าไม่ถนัดแปล บางคนบอกว่าสอบแล้วลืมแล้ว บางคนบอกว่าทำข้อสอบกับใช้งานมันคนละอย่างกัน จึงทำให้เกิดคำถามต่อไปอีกว่า แล้วพวกเราจะหลับหูหลับตาเรียนไปทำไม ในเมื่อเรียนไปก็แค่ให้ได้แค่คะแนนจากอาจารย์เท่านั้น หามาตรฐานที่แน่นอนไม่ได้ ใช้งานไม่ได้ คำถามจึงมีว่าระบบการเรียนการสอนทางภาษาควรแก้ไขปรับปรุงใหม่ไหม


อนึ่ง ท่านสามารถอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้เพิ่มเติม ในบทความที่เป็นคำนำของหนังสืิอ ชื่อบทความว่า "Preface of The Dictionary of Names, Positions, Occupations, and Common Phrases" ใน Blog นี้ และในอีก Blog นั่นคือ http://worldway.multiply.com/



Jcampa-เจแคมป้า
12 กรกฎาคม 2550

[สงวนลิขสิทธิ์ห้ามลอกแบบ เลียนแบบหรือนำไปดัดแปลงใช้ในสื่อรูปแบบใดๆ ยกเว้นจะได้รับอนุญาตเป็นลายลักอักษร]